ในการนำเข้าสินค้าจากจีน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องจัดเตรียมเอกสาร สำหรับยื่นให้กับกรมศุลกากร ซึ่งหนึ่งในนั้นคือใบ Form E แล้วเคยสงสัยบ้างไหมว่าใบ Form E คืออะไร มีความสำคัญอย่างไรในการนำเข้าสินค้า และการนำเข้าสินค้าจากจีนนั้น ต้องมีการเสียภาษีนำเข้า ซึ่งการจะเสียภาษีนำเข้ามาก หรือน้อยนั้น ก็ขึ้นอยู่กับพิกัดศุลกากรของสินค้า และมูลค่าสินค้า
แต่เนื่องจากไทยกับจีน มีการทำข้อตกลงสิทธิพิเศษทางการค้าอาเซียน-จีนไว้ จึงทำให้สินค้าบางประเภทได้รับการลดหย่อนภาษี แต่ต้องมีใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือ Certificate of Origin (C/O) และการจะใช้สิทธิพิเศษนี้ในการลดหย่อนภาษีนำเข้าได้นั้น ผู้นำเข้าต้องมีใบ Form E ซึ่งในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับเอกสารนี้กัน
ขอแนะนำ CVT Easy 2020 ผู้ช่วยเบอร์ 1 สำหรับคนเริ่มต้นทดลองขาย
ใบ Form E คืออะไร
เป็นเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ที่ผลิต และส่งออกจากสมาชิกประเทศใน ACFTA โดยต้องเป็นไปตามข้อตกลงอย่างครบถ้วน ดังนั้นผู้นำเข้าสินค้า จึงมักขอใบ Form E ในการนำเข้าสินค้าจากจีน เนื่องจากสินค้าหลายตัว ได้รับการลดหย่อนภาษีเหลือ 0% จึงทำให้ไม่ต้องเสียอากรในการเข้า
ดังนั้นสิ่งที่ผู้นำเข้าต้องทำ คือสอบถามไปยังบริษัทชิปปิ้งว่า พิกัดของสินค้าที่ท่านต้องการนำเข้านั้น มีสิทธิ์ได้รับลดหย่อนอากร หรือไม่ และตรวจสอบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าด้วย หากสินค้านำเข้าได้รับการลดหย่อนภาษีได้ ให้แจ้งกับบริษัทผู้ส่งออก เพื่อดำเนินการขอใบ Form E จากเจ้าหน้าที่ของประเทศผู้ส่งออก และจัดส่งมา เพื่อดำเนินการแสดง Form E ประกอบการนำเข้าต่อเจ้าหน้าที่ ที่ประเทศไทย เพื่อทำการลดหย่อนภาษีอากรต่อไป
ในกรณีที่ผู้นำเข้าไม่สามารถนำใบ Form E มาแสดงต่อด่านศุลกากรได้ แต่ต้องการใช้สิทธิ์ Form E สามารถแจ้งความจำนง เพื่อขอใช้สิทธิพิเศษได้ โดยทำการบันทึกข้อมูลการสงวนสิทธิการขอคืนอากรภายหลังการนำเข้า ในช่อง Remark ของแต่ละรายการใบขนสินค้าขาเข้า และชำระอากรในอัตราปกติไปก่อน แต่ถ้าไม่ได้บันทึกข้อมูลสงวนสิทธิ เพื่อขอคืนอากรภายหลังการนำเข้า ในช่อง Remark ของแต่ละรายการ ผู้นำเข้าต้องยื่นคำร้องขอผ่อนผัน พร้อมเหตุผลประกอบ และให้ด่านศุลกากรเป็นผู้อนุมัติแทนก่อนนำของออกได้
ลักษณะเด่นของเอกสาร Form E
- ต้องออกโดยหน่วยงาน ที่มีอำนาจในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของประเทศส่งออก ที่เป็นสมาชิกที่ทำข้อตกลงทางการค้าอาเซียนจีน หรือ ACFTA เท่านั้น
- เอกสารฟอร์ม E ต้นฉบับ มีสีน้ำตาลอ่อน และมีสำเนา 2 ฉบับ เป็นสีเขียวอ่อน
- จัดพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น
- อายุของเอกสาร Form E มีอายุเพียง 1 ปี นับจากวันที่ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า
- ใช้ลดหย่อนภาษีนำเข้าจากจีนได้ ต่ำสุด 0%
ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E)
- หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า เริ่มต้นใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2547 ปัจจุบัน ฉบับใหม่ล่าสุด เรียกว่า ACFTA Upgrading Protocol เริ่มใช้อย่างเป็นทางการวันที่ 1 กันยายน 2562
- หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าฉบับใหม่ เป็นสีขาว แทนสีเทา โดยมีแบบฟอร์มสำหรับกรอกข้อมูลอยู่ด้านหน้า และรายละเอียดข้อมูลอยู่ด้านหลัง จัดพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น
- หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าฉบับใหม่ ยกเลิกการจำกัดจำนวนรายการสินค้า จากเดิมที่จำกัดไว้ไม่เกิน 20 รายการต่อฉบับ เป็นแสดงรายการเกิน 20 รายการได้
- การระบุ FOB ในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า เฉพาะกรณีที่สินค้าผ่านคุณสมบัติ ด้วยเกณฑ์สัดส่วนวัตถุดิบภายในภูมิภาค (RVC) เท่านั้น จากเดิมที่กำหนดให้ระบุทุกกรณี
- ปัจจุบันมีการยกเลิกอัตราภาษีนำเข้าสินค้าภายใต้ ACFTA แล้วกว่า 8,000 รายการสินค้า
- หน่วยงานที่มีอำนาจในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าคือ กรมการค้าต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ ส่วนหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า คือ กรมศุลกากร และกระทรวงการคลัง
- ประเทศที่เป็นสมาชิกในเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) มีทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ จีน ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และบรูไน
- ปัจจุบัน สามารถให้บริษัทชิปปิ้งเป็นผู้ดำเนินการจัดทำ Form E แทนผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าได้ โดยที่ผู้นำเข้าไม่ต้องไปดำเนินการด้วยตนเอง
ข้อมูลที่ระบุในเอกสารต้องถูกต้อง ตรงกับเอกสารอื่นที่ใช้ประกอบการนำเข้าส่งออก หากข้อมูลใน Form E ไม่ตรงกับข้อมูลในเอกสารชนิดอื่น ที่ยื่นประกอบควบคู่กัน เจ้าหน้าที่มีสิทธิ์ที่จะไม่อนุญาต ให้ลดหย่อนภาษีอากรสำหรับสินค้านำเข้าได้ และผู้นำเข้าต้องใช้ Form E ตัวจริงเท่านั้น ในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีนำเข้า
กลับสู่สารบัญข้อมูลในช่องต่างๆ ของเอกสาร Form E
- Reference no. คือเลขที่ของฟอร์ม E
- Form E issued in : ชื่อประเทศผู้ส่งออก
- ช่องที่ 1 : ชื่อ ที่อยู่ และประเทศของผู้ส่งออก
- ช่องที่ 2 : ชื่อ ที่อยู่ และประเทศของผู้รับสินค้า
- ช่องที่ 3 : Departure Date วันส่งสินค้าของผู้ส่งออก , Vessel’s name / Aircraft etc. ชื่อของเรือ หรือเครื่องบิน , Port of Discharge ท่าที่นำเข้า
- ช่องที่ 4 : ช่องสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจว่า จะให้สิทธิ์ หรือปฏิเสธสิทธิ์
- ช่องที่ 5 : Item Number ลำดับของสินค้า ไล่ลงมาจาก 1 ถึงไม่เกิน 20
- ช่องที่ 6 : Marks and numbers on package เครื่องหมาย และหมายเลขที่อยู่หีบห่อสินค้า
- ช่องที่ 7 : จำนวน และชนิดของหีบห่อ รายละเอียดของสินค้า รวมถึงจำนวน และพิกัดสินค้า HS Code
- ช่องที่ 8 : Origin Criteria เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า
- ช่องที่ 9 : น้ำหนักรวม (Gross Weight) และปริมาณอื่นๆ , ราคา FOB
- ช่องที่ 10 : Number and date of invoices เลขที่ และวันที่ของ Invoice
- ช่องที่ 11 : ชื่อประเทศผู้ผลิต (Country) , ชื่อประเทศผู้นำเข้า ตรง (Import Country) , สถานที่ วันที่ และลายเซ็นของผู้ส่งออก (Place and date , signature of authorized signatory)
- ช่องที่ 12 : สถานที่ วันที่ ลายเซ็น และตราประทับของผู้มีอำนาจออก Form E
- ช่องที่ 13 : ทำเครื่องหมายหน้าเงื่อนไข กรณีเป็นการออกฟอร์ม ในกรณีพิเศษดังต่อไปนี้ , Issued Retroactively = กรณีที่เป็นการออก C/O ย้อนหลัง , Exhibition = กรณีมีวัตถุประสงค์ในการนำไปจัดแสดงสินค้า และขายสินค้าระหว่างงานแสดง , Movement Certificate = ภายใต้เงื่อนไขหนังสือรับรองในการเคลื่อนย้าย ,Third Party Invoicing = ทำการซื้อขายผ่านประเทศที่สาม
ฝากทิ้งท้าย
นับว่าเป็นโอกาสดี สำหรับสำหรับผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศจีนที่จะขอ Form E เนื่องจากสินค้าหลายตัว ได้รับการลดหย่อนภาษีนำเข้า ซึ่งบางที่อาจจะลดลงเหลือ 0% ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่สินค้าทุกประเภท ที่จะลดหย่อนภาษีได้นั้นเอง ก็จบไปแล้วสำหรับข้อมูลเกี่ยวกับใบ FORM E ที่คนนำเข้าสินค้าจากจีนมายังเมืองไทยจำเป็นต้องรู้ เหตุผลหลักๆ ก็คือการช่วยให้คุณได้ส่วนลดภาษีนำเข้า ดีกว่าต้องจ่ายภาษีแบบเต็มๆ อีกทั้งหากทำผิดขั้นตอน การแก้ไขนั้นเป็นเรื่องยุ่งยากมาก ซึ่งคงไม่มีใครอยากวุ่นวายกับเรื่องเอกสารเหล่านี้ แถมต้องเสียเงินแพงๆ แน่นอน